5278 จำนวนผู้เข้าชม |
การทานยานั้นมีข้อแนะนำที่สำคัญคือ ไม่ควรทานยาพร้อมกับเครื่องดื่มบางอย่าง แต่ก็มีบางคนที่ไม่ได้สนใจปฏิบัติตามข้อแนะนำดังกล่าวข้างต้น เนื่องจากคิดว่าการทานยาพร้อมเครื่องดื่มทุกชนิด ไม่น่าจะมีผลต่อการออกฤทธิ์ของยาแต่อย่างใด เคยสงสัยไหมว่า เพราะเหตุใดจึงมีข้อแนะนำดังกล่าวข้างต้นและข้อมูลด้านล่างนี้ คือ เหตุผลของ 5 เครื่องดื่มต้องห้ามที่ไม่ควรทานกับยา
1. ชา กาแฟ
มักมีสารกระตุ้นประสารทที่รู้จักกันคือ คาเฟอีนที่ทำให้รู้สึกสดชื่น ถ้าหากได้รับมากเกินไปจะทำให้กระวนกระวาย ใจสั่น นอนไม่หลับหากทานร่วมกับยากระตุ้นระบบประสาท เช่น pseudoephedrine ซึ่งพบได้ในยาสูตรผสมแก้หวัดที่หาซื้อได้ทั่วไป ก็อาจทำให้เกิดอาการเหล่านั้นมากขึ้นหรือนานขึ้น ยาบางอย่างทำให้คาเฟอีนอยู่ในร่างกายได้นานขึ้น เมื่อต้องทานยาเหล่านี้ ควรงดเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีนชั่วคราว
2. นม
เพราะแคลเซียมที่มีอยู่ในนม จะยับยั้งการดูดซึมปฏิชีวนะ ซึ่งอาจจะเป็นตัวยาที่คุณทานเข้าไป
3. น้ำผลไม้ (รสเปรี้ยว)
เช่น น้ำส้ม น้ำมะนาว เพราะเป็นตัวการยับยั้งเอ็นไซม์ ที่ช่วยเปลี่ยนแปลงยาบางชนิด ให้ร่างกายน้ำไปใช้ ทำให้ยามีประสิทธิภาพน้อยลง แต่ออกฤทธิ์ข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์มากขึ้น
4. น้ำอัดลม
แน่นอนว่าแก๊สในน้ำอัดลมจะเข้าไปกัดกระเพาะและขัดขวางให้ตัวยาดูดซึมไม่ดี
5. แอลกอฮอล์
เป็นที่ทราบกันดีว่า แอลกอฮอล์มีฤทธิ์กดประสาท ทำให้สติสัมปาชัญญะเราลดลง หากทานร่วมกับยาที่มีฤทธิ์กดประสาท เช่น ยาแก้แพ้ ยาคลายกังวล ยาต้านซึมเศร้าอาจทำให้ง่วงซึม ขาดสมาธิ ได้มากกว่าปกติถ้ารุนแรงอาจถึงขั้นหมดสติ และหยุดหายใจไปเลยก็เป็นได้ แอลกอฮอล์ยังมีพิษต่อตับ
หากทานร่วมกันกับยา พาราเซตามอลหรือยาอื่นที่มีผลต่อตับก็มีโอกาสทำให้เกิดตับวายเฉียบพลันได้ ยาต้านเชื้อ Metronidazole เมื่อทานร่วมแอลกอฮอล์ จะทำให้เกิดอาการผิวหนังแดงจากการขยายตัวของหลอดเลือด โดยเฉพาะที่ใบหน้าร่วมกับอาการคลื่นไส้อาเจียน หัวใจเต้นเร็ว เนื่องจากแอลกอฮอล์เป็นตัวทำละลายที่ดี อาจเปลี่ยนแปลงการดูดซึมยาหลายชนิด โดยเฉพาะทำให้ยาบางชนิดดูดซึมได้มากขึ้น ส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงจากการได้รับยาเกินขนาดได้
ดังนั้น ขอย้ำอีกทีว่าทานน้ำเปล่ากับยาดีที่สุด นอกจากจะไม่มีผลกับยาที่ทานแล้ว หากดื่มน้ำในปริมาณที่เพียงพอ ยังช่วยละลายยาเพิ่มการดูดซึมและลดผลข้างเคียงบางอย่างที่เกิดขึ้นกับยาได้ โดยเฉพาะยาที่ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร