Q : 1. การฉายรังสีต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง?
A : แต่งตัวด้วยเสื้อผ้า สะอาด หลวม รวมทั้งรองเท้าที่ใส่-ถอดง่าย สะอาด ควรแต่งตัวสวมใส่น้อยชิ้นเนื่องจากต้องมีการถอดเปลี่ยนเสื้อผ้า รับประทานอาหาร ดื่มน้ำได้ตามปกติ หรือ ตามแพทย์ พยาบาล แนะนำ แต่อย่าให้อิ่มเกินไป เข้าห้องน้ำให้เรียบร้อยก่อนเข้าห้องฉายรังสี เพราะผู้ป่วยต้องอยู่ในห้องฉายแสงประมาณ 10-15 นาที หรือนานกว่านี้ในกรณีที่ใช้เทคนิคการรักษาที่ซับซ้อน
ถ้ามีการขีดเส้น หรือ ทำเครื่องหมายไว้บนตัวผู้ป่วย ด้วยสีพิเศษซึ่งลบออกได้ยาก ผู้ป่วยต้องพยายามรักษาไม่ให้เส้น หรือเครื่องหมายเหล่านั้นลบเลือน เพราะเป็นตำแหน่งถูกต้องของการรักษา (โดยปกติ แพทย์และนักรังสี จะคอยเติมเส้นและเครื่องหมายเหล่านั้นให้ชัดเจนอยู่เสมอ) ผู้ป่วยบางรายอาจแพ้สีที่ใช้ โดยมีอาการคันหรือเป็นแผลตามแนวที่ขีดเส้นไว้ ไม่ต้องตกใจ อาการและแผลจะหายไปเอง หรือควรปรึกษาแพทย์ถ้ามีอาการคันหรือผื่นมาก
Q : 2. การฉายรังสีต้องให้แพทย์ตรวจก่อนไหม?
A : ปกติในการรักษาด้วยการฉายรังสีแพทย์จะตรวจผู้ป่วย 1 ครั้งต่อสัปดาห์ ตามวัน เวลา ที่นัดตรวจกับผู้ป่วย แต่ในวันอื่นๆ ผู้ป่วยมารับการฉายรังสีได้โดยไม่ต้องพบแพทย์
Q : 3. ถ้าระหว่างฉายรังสีและไม่ใช่วันนัดตรวจแต่มีอาการผิดปกติจะทำอย่างไร?
A : ถ้าผู้ป่วยมีอาการผิดปกติ หรือต้องการพบแพทย์ ในวันที่ไม่ใช่วันนัดตรวจให้แจ้งอาการกับเจ้าหน้าที่ห้องฉายรังสีหรือพยาบาล หรือแจ้งว่าต้องการพบแพทย์
Q : 4. ระหว่างการฉายรังสีมีการตรวจอะไรอีกไหม ตรวจอะไรบ้าง?
A : โดยทั่วไปในระหว่างการฉายรังสี จะมีการตรวจเลือดเพื่อดูความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดสัปดาห์ละครั้ง ก่อนวันนัดพบแพทย์ แพทย์จะสอบถามอาการ ตรวจร่างกายทั่วไป บริเวณที่ฉายรังสี ประเมินผลการรักษา และผลข้างเคียง มีการพูดคุย ให้คำปรึกษาแนะนำ ถ้าผู้ป่วยมีอาการผิดปกติ อาจมีการตรวจอื่นๆ เพิ่มเติมได้ ทั้งนี้ขึ้นกับข้อบ่งชี้ทางการแพทย์
Q : 5. ทำไมจึงต้องฉายรังสีหลายครั้ง?
A : เพื่อให้เกิดผลเสียต่อร่างกายน้อยที่สุดเนื่องจากเซลล์ปกติของร่างกายสามารถซ่อมแซมตนเองได้ดีมาก แต่เซลล์มะเร็งเป็นเซลล์ที่แบ่งตัวมากปิดปกติและซ่อมแซมตนเองได้ไม่ดีเมื่อได้รับรังสี การฉายรังสีครั้งละเพียงเล็กน้อยแต่บ่อยครั้ง จะทำให้ก้อนมะเร็งค่อยๆ ตายโดยไม่สามารถซ่อมแซมตนเองได้ และเส้นเลือดสามารถนำออกซิเจนเข้าสู่ก้อนมะเร็งเพื่อทำปฏิกิริยาเสริมสัมฤทธิ์ของรังสีได้มากขึ้น จำนวนครั้งที่ฉายรังสีขึ้นอยู่กับชนิดของเซลล์มะเร็ง บางชนิดให้รังสีเพียงแค่ 15-20 ครั้ง ในขณะที่บางชนิดต้องให้รังสีสูงถึง 35-40 ครั้ง
แต่สำหรับคนไข้ที่สภาพร่างกายไม่เหมาะสมที่จะรับการรักษาเป็นระยะเวลานานๆ อาจจะได้รับรังสีเพียง 1-15 ครั้ง แต่จะได้รับปริมาณรังสีสูงขึ้นในแต่ละครั้ง ซึ่งขึ้นกับดุพินิจแพทย์ผู้รักษา
Q : 6. ฉายรังสีแล้วทำให้ผมร่วงหรือไม่?
A : โดยทั่วไปการฉายรังสีจะไม่ทำให้ผมร่วง ยกเว้นการฉายรังสีที่ศีรษะโดยตรง กรณีที่ปริมาณรังสีที่รากผมไม่สูง ผู้ป่วยที่ได้รับรังสีบริเวณศีรษะอาจผมร่วงชั่วคราวแล้วขึ้นใหม่ แต่หากปริมาณรังสีบริเวณรากผมสูงอาจผมร่วงถาวร ผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัดบางชนิดอาจมีอาการผมร่วงก่อนแล้วการฉายรังสีไม่ทำให้ผมร่วงมากขึ้น
Q : 7. ขณะรักษาด้วยรังสีหรือใส่แร่จำเป็นต้องอยู่ห่างจากคนใกล้ชิดหรือไม่?
A : ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้เหมือนคนทั่วไป กอดลูกหลาน ทานอาหารร่วมกับผู้อื่นได้ รังสีจะออกฤทธิ์เฉพาะผู้ป่วยเท่านั้น
Q : 8. บริเวณที่ฉายรังสีสามารถแป้งหรือโลชั่นได้หรือไม่?
A : ห้ามใช้แป้ง สบู่หรือเครื่องสำอางทาบริเวณที่ฉายรังสี เพราะอาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองได้ ส่วนโลชั่นที่ให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวหนังที่ไม่มีส่วนประกอบของแอลกอฮอล์สามารถทาได้แต่ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์
Q : 9. ระหว่างฉายรังสี ห้ามกินอะไร?
A : ระหว่างฉายรังสีไม่มีข้อห้ามในการรับประทานอาหารชนิดใดเป็นพิเศษผู้ป่วยควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบทั้ง 5 หมู่ คือ โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน ผัก และผลไม้ ดื่มน้ำสะอาอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว และถ้ามีผลข้างเคียงจากการรักษา เช่น ท้องเสียหรือเจ็บในปากหรือคอ ควรปรับเปลี่ยนประเภทอาหารที่เสาะท้อง เป็นต้น หรือตามที่แพทย์และพยาบาลแนะนำ แต่ยังต้องคงคุณค่าทางอาหารให้เป็นอาหารมีประโยชน์ แต่ถ้ามีโรคเรื้อรังอื่นๆร่วมด้วย เช่น โรคเบาหวานหรือความดันโลหิตสูง ต้องรับประทานอาหารตามโรคนั้นๆ ด้วย
Q : 10. ในช่วงฉายรังสีต้องหยุดงานไหม?
A : ระหว่างการฉายรังสี ไม่จำเป็นต้องหยุดงานทั้งนี้ขึ้นกับสุขภาพของผู้ป่วย แต่ผู้ป่วยควรลดภาระงานเพื่อไม่ให้อุปสรรคต่อการรักษาหรือการมาฉายรังสี และเพื่อให้ได้พักผ่อนเต็มที่ แต่ถ้าผู้ป่วยรู้สึกอ่อนเพลียมาก แนะนำให้พักงานเป็นระยะๆ ทั้งนี้ผู้ป่วยควรปรึกษาหัวหน้างานและเพื่อนร่วมงานด้วยเพื่อความสบายใจของผู้ป่วยและลดปัญหาในการทำงาน
Q : 11. หลังจากรักษามะเร็งปากมดลูก เมื่อหายแล้วสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้หรือไม่?
A : ผู้ป่วยสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้หลังจากการรักษาครบ 3 เดือน ขณะมีเพศสัมพันธ์ควรใส่ถุงยางอนามัยและใช้เจลหล่อลื่น สำหรับที่ไม่มีเพศสัมพันธ์ควรใช้นิ้วที่ตัดเล็บสั้นและล้างสะอาด สอดช่องคลอดขณะอาบน้ำวันละ 1 ครั้ง เพื่อป้องกันช่องคลอดตีบตัน
Q : 12. ถ้าต้องทำการรักษามะเร็งด้วยการใส่แร่ ในระหว่างที่ทำการรักษาด้วยการฉายรังสีอยู่ต้องทำอย่างไร
A : ผู้ป่วยจะต้องหยุดการฉายรังสีในวันใส่แร่ 1 วัน แล้วหลังจากนั้นให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์และพยาบาล
Q : 13. ผลข้างเคียงจากการฉายรังสี?
A : ผลข้างเคียงเฉียบพลัน
พบตั้งแต่เริ่มการรักษาไปจนถึงภายใน 8 สัปดาห์หลังจากการฉายรังสี ซึ่งเกิดขึ้นกับบริเวณที่ฉายรังสี เช่น การเปลี่ยนแปลงของผิวหนังบริเวณที่ฉายรังสี การเกิดอาการอ่อนเพลีย ภูมิต้านทานต่ำจากเม็ดเลือดขาวลดจำนวนลง เป็นต้น
ผลข้างเคียงเรื้อรัง
มักเกิดขึ้นหลังได้รับการรักษาด้วยการฉายรังสีเสร็จสิ้นไปแล้วนานหลายเดือนจนถึงหลายปี ซึ่งเกิดจากการฉายรังสี ทำให้เกิดความเสียหายต่อเนื้อเยื่อปกติ ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อเนื้อเยื่อ เช่น ถ้าฉายรังสีบริเวณอุ้งเชิงกรานจะมีอาการกระเพาะปัสสาวะอักเสบหรือลำไส้อักเสบเรื้อรัง หรือช่องคลอดตีบตัน เป็นต้น
Q : 14. การผ่าตัดเป็นวิธีที่รักษามะเร็งได้ทุกชนิดหรือไม่ ?
A : การรักษามะเร็งด้วยการผ่าตัดนั้น มะเร็งที่มีลักษณะเป็นก้อน (Solid Tumor) ที่ศัลยแพทย์สามารถผ่าตัดได้ แต่จะไม่ทำการผ่าตัดได้ ถ้าเป็นก้อนที่ใหญ่โต ลุกลามต่อมน้ำเหลือง หรืออวัยวะใกล้เคียง
Q : 15. มะเร็งหายได้หรือไม่?
A : การหายจากโรคมะเร็งขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง
ระยะของโรค ผู้ป่วยระยะต้นมีโอกาสหายขาดมากกว่ามะเร็งระยะปลาย มะเร็งระยะแพร่กระจายมีโอกาสหายขาดน้อยมาก ซึ่งกรณีนี้มักจะได้รับการรักษาแบบประคับประคอง เพื่อลดความเจ็บปวดและเพิ่มคุณภาพชีวิตเท่านั้น
อวัยวะต้นเหตุของโรคมะเร็ง “มะเร็งต้นเหตุ (Primary Cancer)” เนื่องจากในบางตำแหน่งก็จะมีความเสี่ยงมากกว่าแม้เป็นระยะแรกก็ทำการพยากรณ์โรคได้ไม่ดี เช่น มะเร็งตับ มะเร็งท่อน้ำดี มะเร็งสมอง มะเร็งไต เป็นต้น ในขณะที่มะเร็งบางตำแหน่งมีโอกาสอยู่รอดดีมาก แม้เป็นในระยะปลายๆ เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งอัณฑะ มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งบางชนิดก็มีการพยากรณ์โรคกลางๆขึ้นกับระยะตามข้อ 1 เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้เป็นต้น
การตอบสนองต่อยาเคมี มะเร็งบางชนิดตอบสนองต่อยาเคมีดีมาก มีโอกาสหายสูงมาก เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งอัณฑะ มะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวเล็ก เป็นต้น มะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งหลังโพรงจมูก มะเร็งปากมดลูกระยะ 2 ขึ้นไป เป็นต้น ตอบสนองต่อการรักษาด้วยการฉายแสงคู่กับยาเคมีได้ผลดีมาก ถึงแม้จะไม่อาจรักษาด้วยการผ่าตัดได้
อ้างอิง : คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. หนังสือรู้จัก รู้เรื่อง รู้รักษา โรคมะเร็ง. หน้า 205-222